การสอบวัดคุณสมบัติ
หลังจากที่นักศึกษาร่างกรอบแนวคิดของงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์เสนอแก่อาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นชอบว่านักศึกษามีความพร้อมที่จะเริ่มงานดุษฎีนิพนธ์แล้ว นักศึกษาสามารถยื่นเรื่องขอสอบวัดคุณสมบัติ โดยใช้แบบคำร้องขอสอบ บว. 30 (หน้า 31) ล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน เพื่อประเมินว่านักศึกษามีความพร้อมที่จะดำเนินงานวิจัยโดยอิสระ ให้เป็นไปตามประกาศคณะเทคนิคการแพทย์ (ฉบับที่ 47/2553) เรื่อง การสอบวัดคุณสมบัติหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวของมนุษย์ (หน้า 21)
อาจารย์ที่ปรึกษายื่นเรื่องเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวัดคุณสมบัติโดยใช้แบบ บว. 31 (หน้า 33) ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 4 คน ดังนี้
- อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก
- อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (ถ้ามี)
- ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากหลักสูตรฯ จำนวน 1 คน (ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ เป็นผู้เสนอ)
- ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง ไม่เกิน 2 คน
กรรมการข้อ 1 และ 2 ต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกันกับกรรมการในข้อ 3 และ/หรือ 4
*** ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ**
การสอบวัดคุณสมบัติประกอบด้วยการสอบข้อเขียนและการสอบปากเปล่า ดำเนินการโดยคณะกรรมการสอบวัดคุณสมบัติ คณะกรรมการประชุมเพื่อกำหนดขอบเขตของข้อสอบ น้ำหนักคะแนนของข้อสอบแต่ละส่วน ผู้รับผิดชอบออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ ทั้งนี้อาจมีกรรมการบางท่านไม่ได้ออกข้อสอบซึ่งขึ้นอยู่กับหัวข้อที่กำหนด ในการสอบนักศึกษาสามารถค้นหาข้อมูลนอกห้องสอบได้ ดังนั้นข้อสอบควรเป็นคำถามเชิงคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ 70% และระเบียบวิธีวิจัย 30% ใช้เวลาไม่ควรเกิน 1 เดือน ประธานคณะกรรมการสอบวัดคุณสมบัติเป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อสอบจากคณะกรรมการและส่งให้นักศึกษา การส่งคำตอบแก่คณะกรรมการแต่ละท่านอาจทำเป็นรูปเล่มหรือส่งทางอิเล็คโทรนิคส์ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแต่ละชุด อย่างไรก็ตามนักศึกษาจะต้องส่งคำตอบเป็นรูปเล่มหรือแผ่นซีดีแก่ประธานคณะกรรมการ 1 ชุดในวันสอบ (ตัวอย่างของแบบปกอยู่ในภาคผนวก หน้า 65)
ส่วนการสอบปากเปล่าจะเป็นการสอบที่ทดสอบความเข้าใจในข้อสอบข้อเขียน และอาจมีคำถามเพิ่มเติมจากกรรมการได้ ควรสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่นักศึกษาส่งคำตอบ รูปแบบการสอบขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสอบ ทั้งนี้ควรประกอบด้วย การนำเสนอคำตอบของนักศึกษาและการสอบถามเพิ่มเติม โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมฟังและถามคำถามได้ ทั้งนี้เกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานและความสามารถในการบูรณาการความรู้เพื่ออธิบายเหตุผล ความสามารถในการตอบคำถามได้ตรงคำถามและถูกต้อง สอดคล้องกับข้อมูลที่นำเสนอและสามารถให้เหตุผลและอ้างอิง บุคลิกภาพ การแสดงออกและความเชื่อมั่น วิธีการนำเสนอและสื่อ
เกณฑ์การประเมินการสอบวัดคุณสมบัติ ได้แก่ คะแนนการสอบข้อเขียน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 การสอบปากเปล่า คณะกรรมการสามารถประเมินได้ว่านักศึกษามีความรู้ และความพร้อมในการดำเนินงานวิจัยให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และคะแนนรวมของการสอบวัดคุณสมบัติทั้งหมดต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75
ประธานคณะกรรมการสอบรายงานผลการสอบผ่านประธานกรรมการบริหารหลักสูตร ฯ โดยใช้ใบแจ้งผลการสอบ บว. 32 (หน้า 34) ภายใน 15 วันนับจากวันสอบ นักศึกษาที่สอบวัดคุณสมบัติผ่านแล้วมีสิทธิ์ขออนุมัติเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ได้ สำหรับนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านในครั้งแรก สามารถขอสอบได้อีกหนึ่งครั้งภายในภาคการศึกษาถัดไป หากนักศึกษาสอบครั้งที่สองแล้วไม่ผ่าน จะพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาตามระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 60.8
การเสนอขออนุมัติเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์
หลักสูตรได้กำหนดให้นักศึกษาเสนอขออนุมัติเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปีการศึกษา หลังจากที่ได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาดุษฎีนิพนธ์ (ประกาศคณะเทคนิคการแพทย์ ฉบับที่ 73/2552) อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจะต้องสอบวัดคุณสมบัติผ่านก่อน จึงจะดำเนินการเสนอขออนุมัติเค้าโครงฯ ได้ โดยยื่นแบบเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ บศ. 1 (หน้า 35) ซึ่งประกอบด้วย
- อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก
- อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (ถ้ามี)
- ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 1 ท่าน (อาจารย์ที่ปรึกษาหลักเป็นผู้เสนอ)
- ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1 ท่าน
- ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากหลักสูตรฯ จำนวน 1 ท่าน (ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ เป็นผู้เสนอ)
กรรมการข้อ 1, 2 และ 4 จะต้องไม่เป็นบุคคลคนเดียวกันกับกรรมการในข้อ 3 และ/หรือ ข้อ 5 และไม่จำเป็นต้องเป็นชุดเดียวกันกับกรรมการสอบวัดคุณสมบัติ
***ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยฯ ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการสอบเค้าโครงดุษฏีนิพนธ์ ***
นักศึกษาจะต้องส่งรูปเล่มเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ฉบับภาษาอังกฤษให้คณะกรรมสอบเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ก่อนวันสอบอย่างน้อย 2 สัปดาห์ รายละเอียดของหัวข้อในการเสนอขอเค้าโครง แสดงไว้ในหน้า 38 สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาแนบแบบฟอร์มการประเมินเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ไปพร้อมกับรูปเล่มด้วย (หน้า 39)
รูปแบบการสอบขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสอบ ทั้งนี้ควรประกอบด้วย การนำเสนอของนักศึกษาเป็นภาษาอังกฤษและการสอบถามปากเปล่า โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมฟังและถามคำถามได้ การสอบเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์จะต้องได้รับความเห็นชอบอย่างน้อย 2 ใน 3 ของคณะกรรมการสอบ ประธานคณะกรรมการสอบรายงานผลการสอบ ผ่านประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตร ฯ โดยใช้ใบแจ้งผลการสอบ บศ. 3 (หน้า 36) ภายใน 15 วัน นับจากวันสอบ ภายหลังการสอบเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ นักศึกษาจะต้องยื่นแบบเสนอเค้าโครง บว. 23 (หน้า 37) พร้อมแผ่น CD (เค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ฉบับภาษาอังกฤษที่แก้ไขตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว) 1 แผ่น ให้แก่เจ้าหน้าที่หลักสูตร เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ภายใน 45 วันทำการหลังวันสอบ
นักศึกษาที่เสนอขออนุมัติเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ผ่านแล้วมีสิทธิ์ขอทุนสนันสนุนการทำดุษฎีนิพนธ์ได้ ตามประกาศคณะเทคนิคการแพทย์ (ฉบับที่ 58/2553) (หน้า 23)
การรายงานความก้าวหน้ารายวิชาดุษฏีนิพนธ์
นักศึกษาต้องรายงานความก้าวหน้าดุษฏีนิพนธ์ ทั้งการเสนอทางวาจาและเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ตามแบบ บศ.5 (หน้า 43) เพื่อประเมินจำนวนหน่วยกิตที่ผ่าน (S) ในทุกภาคการศึกษาที่มีการลงทะเบียนรายวิชาดุษฎีนิพนธ์ ภายใต้ระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด ทั้งนี้อาจารย์ที่ปรึกษาเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินความก้าวหน้าดุษฏีนิพนธ์ ตามแบบ บศ. 4 (หน้า 42) ซึ่งประกอบด้วย
- อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก
- อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (ถ้ามี)
- ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากหลักสูตรฯ จำนวน 1 ท่าน (ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ เป็นผู้เสนอ)
- ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะต้องมีไม่น้อยกว่า 3 คน และกรรมการข้อ 1 และ 2 จะต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกับข้อ 3 และ 4
***อาจารย์ที่ปรึกษาหลักทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการประเมินความก้าวหน้า***
เกณฑ์การประเมินผลความก้าวหน้า มีดังต่อไปนี้
กิจกรรมการประเมิน | แบบ 1.1 | แบบ 1.2 |
48 หน่วยกิต |
72 หน่วยกิต |
|
ทบทวนวรรณกรรม กำหนดปัญหาที่สนใจศึกษา และสามารถเขียนเอกสารนำเสนอกรอบแนวคิดหรือ Concept paper ได้ และสอบวัดคุณสมบัติผ่าน | 6 | 12 |
จัดทำร่างของเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ (บทที่ 1,2,3) โดยให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจแก้ไขและสามารถสอบผ่านเค้าโครงฯ | 9 | 15 |
สร้างเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูล และทดสอบเครื่องมือแล้วเสร็จ ดำเนินการทำวิจัย สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ทั้งหมด | 12 | 18 |
วิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้นพร้อมทั้งสรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูล | 12 | 18 |
เขียนรายงานผลการศึกษา สรุปและอภิปรายผล ผลงานดุษฎีนิพนธ์บางส่วนได้รับการตีพิมพ์/ยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร ส่งร่างดุษฎีนิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ให้อาจารย์ที่ปรึกษาแก้ไข และเตรียมการสอบ | 9 | 9 |
หลังการประเมินความก้าวหน้าดุษฎีนิพนธ์ คณะกรรมการพิจารณาผลจำนวนหน่วยกิตที่ได้และแจ้งให้นักศึกษาทราบ อาจารย์ที่ปรึกษาต้องส่งใบแจ้งผลการประเมินความก้าวหน้า บศ.6 (หน้า 52) และแบบรายงานความก้าวหน้าดุษฎีนิพนธ์ (หน้า 47) ภายใน 3 วันทำการ ต่อเจ้าหน้าที่หลักสูตร เพื่อเสนอต่อประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ และคณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัยต่อไป
การสอบดุษฎีนิพนธ์
นักศึกษามีสิทธิ์ขอสอบดุษฎีนิพนธ์เมื่อ
– มีผลการประเมินความก้าวหน้าโดยได้ S ครบตามจำนวนหน่วยกิตของรายวิชาดุษฎีนิพนธ์ที่หลักสูตรกำหนด และต้องดำเนินการสอบภายใน 45 วัน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2548 ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการสอบภายใน 45 วัน ให้ถือว่า การได้สัญลักษณ์ S ในครั้งการประเมินสุดท้ายเป็นโมฆะ
– ได้รับอนุมัติเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์แล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน
เมื่อนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกันกำหนดวันสอบได้แล้ว นักศึกษายื่นใบคำร้องขอสอบดุษฎีนิพนธ์ บว.25 (หน้า 53) และแบบเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ บว. 26 (หน้า 55) ซึ่งประกอบด้วย
- อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก
- อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (ถ้ามี)
- ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง 1 คน
- ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากหลักสูตรฯ (ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ เป็นผู้เสนอ)
กรรมการข้อ 1, 2 จะต้องไม่เป็นบุคคลคนเดียวกันกับกรรมการในข้อ 4 และ/หรือ ข้อ 5
***ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์***
นักศึกษาต้องส่งดุษฎีนิพนธ์ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตามแบบฟอร์มที่กำหนดโดยบัณฑิตวิทยาลัย ให้คณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์พิจารณาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนวันสอบ
การสอบดุษฎีนิพนธ์ ประกอบด้วยการนำเสนอและการซักถาม การสอบต้องเป็นแบบเปิด โดยการเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังการนำเสนอและตอบคำถามของผู้สอบได้ และต้องประกาศให้ผู้สนใจทราบก่อนการสอบไม่น้อยกว่า 7 วัน คณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้เข้าฟังถามหรือแสดงความเห็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา รวมทั้งจำกัดเวลาการถามและการควบคุมการสอบให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย
เกณฑ์การประเมินผลสอบดุษฎีนิพนธ์ คือ ศักยภาพการทำงานวิจัย (30%) และการประเมินผลการสอบดุษฎีนิพนธ์ (70%) ดังรายละเอียดตามประกาศคณะเทคนิคการแพทย์ (ฉบับที่ 73/2552)
ประธานคณะกรรมการสอบแจ้งผลการสอบเป็นลายลักษณ์ บว. 27 (หน้า 57) พร้อมกับแบบประเมินเกณฑ์การให้คะแนนสอบ แก่คณบดีและนักศึกษาภายใน 3 วันทำการถัดจากวันสอบ ในกรณีสอบผ่านแต่ต้องมีการแก้ไขให้มีบันทึกประเด็นที่ต้องแก้ไข ลงในบว. 27.1 (หน้า 59) พร้อมทั้งอธิบายให้นักศึกษารับทราบ ทั้งนี้นักศึกษาต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จ และคณะกรรมการสอบให้ความเห็นชอบพร้อมลงลายมือชื่อรับรองการแก้ไขในบว. 28 (หน้า 60) ภายใน 45 วันนับจากวันสอบ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดให้ถือว่าไม่ผ่านในการสอบครั้งนั้น
ขั้นตอนไนการสอบต่างๆ ขอรายวิชาวิทยานิพนธ์
ขั้นตอนการสอบเค้าเค้าโครงวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์
ขั้นตอนประเมินความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์